ย่านถนนช้างม่อย(๓๕)
คหบดีย่านถนนช้างม่อยข้างวัดหนองคำ คือ พ่อเลี้ยงอุ่นเรือน ยุตบุตร สมัยก่อนมีรถบรรทุกโดยสารวิ่งสายเชียงใหม่-ฝาง โดยวิ่งร่วมกับเจ้าของรถรายอื่น ร่วมเป็นบริษัท ส.ร.ช. ต่อมาเมื่อบริษัท ส.ร.ช.เลิกกิจการ รถบรรทุกของพ่อเลี้ยงอุ่นเรือนเปลี่ยนมารับงานรับจ้างบรรทุกหินดินทรายแทน หินสมัยนั้นมักทุบหินที่ทางขึ้นดอยสุเทพ จ้างคนทุบมักเป็นหินเปื่อย
เรื่องการทำรถบรรทุกโดยสารของบริษัท ส.ร.ช. เคยได้รับข้อมูลจากตระกูลขุนกันชนะนนถิส่วนหนึ่งว่า
รุ่นลูกของขุนกันชนะนนถิ ตระกูลชนะนนท์ เป็นผู้บุกเบิกทำรถยนต์บรรทุกวิ่งต่างอำเภอเป็นรุ่นแรกๆ ของเมืองเชียงใหม่
ขุนกันฯ เป็นศรัทธาคนหนึ่งของพระครูบาศรีวิชัย ในสมัยนั้น มีหลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงว และขุนกันฯ ได้ชื่อว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่วมดำเนินการ
อีกคนหนึ่งที่ทำรถโดยสาร คือ เถ้าแก่โหงว วิ่งรถบรรทุกระหว่างอำเภอ เดิมทีไม่ต้องการทำธุรกิจด้านนี้ แต่เนื่องจากผู้ซื้อรถบรรทุกไม่มีเงินผ่อนส่ง ต้องยึดรถคืนมาและว่าจ้างคนเช่าซื้อให้ขับรถดังกล่าวต่อไป เพื่อหักเงินมาเป็นค่าผ่อนส่งรถ เป็นเหตุผลให้เถ้าแก่โหงว ต้องทำธุรกิจรถโดยสารไปโดยปริยาย
เดิมครอบครัวของขุนกันฯ ทำเรื่องสัมปทานป่าไม้เป็นหลัก โดยรับนำรถยนต์ลากไม้ซุงจากในป่ามาลงแม่น้ำปิง โดยรับจ้างจากบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า เมื่อขุนกันฯอายุมาก จึงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของลูกๆ คือ คุณบุญปั๋น ชนะนนท์ , คุณคำดวง ชนะนนท์ น้องชาย และคุณบุญศรี ซึ่งมาเป็นเขยบ้านนี้ ร่วมกันดำเนินการ
เริ่มมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ ปีพ.ศ.๒๔๘๐ เริ่มนำรถบางส่วนมาวิ่งรับส่งเป็นรถโดยสาร มีรถคนละ ๒ คน รวม ๖ คน และได้ชักชวนพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน ยุตบุตร มาร่วมวิ่งด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนสามัญ มีข้อตกลงร่วมกัน โดยยึดสายเหนือ คือ แม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไปถึงอำเภอฝาง รถโดยสารครั้งแรกประมาณ ๘ คัน วิ่งเรื่อยมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔
เดิมตั้งชื่อว่า ห้างหุ้นส่วน ส.ร.ท. ภายหลังเปลี่ยนเป็น ส.ร.ช. ชื่อเต็ม คือสหายรถยนต์เชียงใหม่ มีปัญหาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน ระหว่างสงครามมีทหารญี่ปุ่นมาตั้งกองบัญชาการที่โรงเรียนวัฒโนทัย ด้านหลังโรงเรียนวัฒนทัยสมัยนั้นเป็นป่าทั้งหมด ติดต่อไปถึงด้านหลังสำนักงานแขวงการทางเรื่อยไปถึงวัดสวนดอก ทหารญี่ปุ่นจะนำน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นถังวางเรียงไว้ในป่าด้านหลังโรงเรียนวัฒนทัย วันดีคืนดีก็มีคนงานของแขวงการทางแอบลักน้ำมันของทหารญี่ปุ่นมาขาย มีผู้ขโมยน้ำมันเชื้อเพลิงของทหารญี่ปุ่นมาขายให้กับคุณดวงคำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นรองผู้จัดการ ส.ร.ท. ต่อมาถูกจับกันหลายคน ช่วงนั้นเป็นช่วงประกาศกฎอัยการศึกต้องไปอยู่เรือนจำคลองเปรมที่กรุงเทพฯ สมัยนั้น พ.ต.ต.พระศิลปสิทธิ์ เป็นผู้กำกับเชียงใหม่
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ส.ร.ช. (สหายรถยนต์เชียงใหม่) ได้ซื้อที่ดินตลาดบุญอยู่ มีร.ต.คำปัน ทะนันไชย ที่วิ่งรถอยู่สายใต้ คือ สายหางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด มาเข้าร่วมด้วย มีนายบุญยง วิทยาศรัย บุตรชายของเจ้าคุณวิทยาศรัย (อดีตผู้พิพากษาและต่อมาเป็นทนายความ)มาเป็นสมุห์บัญชี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิก (ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๘) บริษัทบอมเบย์ฯ ติดต่อครอบครัวขุนกันฯให้ไปขนไม้โดยออกทุนซื้อรถลากไม้ให้ใหม่ ๔ คัน รถเป็นรถรุ่น ๔๖ พวงมาลัยซ้าย นอกจากนี้ขุนกันฯยังได้ซื้อรถเก่าจากลำปางมาเพิ่มอีก ๒ คัน ครอบครัวขุนกันฯก็เลิกวิ่งโดยสาร หันไปรับบรรทุกขนไม้แทน ส่วนบริษัท ส.ร.ช.ดำเนินกิจการมาอีกระยะหนึ่งได้เลิกกิจการ
จากบ้านพ่อเลี้ยงอุ่นเรือนไปทางตะวันตกด้านหน้าวัดหนองคำ คนสมัยก่อนจำได้ว่าเป็นบ้านเจ๊กควายขายผ้าที่กาดหลวง ต่อจากนั้นเป็นบ้านช่างทำสังกะสี ชื่อ อ้ายบุญชู-อ้ายจิต ชัยศรี และอ้ายศรีวรรณ-พี่เยาว์ ชัยศรี ต่อมาเป็นทางเข้าวัดหนองคำ , มีร้านก๋วยเตี๋ยวอ้ายเกษม , เฮียฮวด ช่างกลึง , บ้าน ส.สว่าง ตุง ๓ หาง
บ้านเดิมของพ่อเลี้ยงอุ่นเรือนรื้อและสร้างตึกแถวรวม ๑๖ ห้องให้เช่า ร้านหนึ่งที่เช่าตึกแถวของพ่อเลี้ยงอุ่นเรือน ข้างวัดหนองคำ คือ ร้านปรีดาพานิช เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยนายชั่งจี๊ แซ่เจี่ยและนางเซี่ยมเฮียง แซ่ตั้ง สองสามีภรรยาที่โยกย้ายมาจากกรุงเทพฯ มาเช่าตึกเปิดร้านจำหน่ายอะไหล่รถสามล้อเครื่องยี่ห้อแลมเบรตต้าและอะไหล่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อเวสป้า รุ่นลูกมี ๖ คน คือ
๑.นายศรัทธา เจียระนัยปรีดา แยกไปเปิดร้านปรีดาอาหลั่ยยนต์ข้างธนาคารทหารไทย สาขาช้างม่อย ๒.นายกิติศักดิ์ เจียระนัยปรีดา กิจการร้านปรีดาอาหลั่ยยนต์ที่ม่วงโตน
๓.นางรัตนา เจียระนัยปรีดา
๔.นายยงยุทธ เจียระนัยปรีดา กิจการร้านปรีดาอาหลั่ยยนต์อำเภอสันป่าตอง
๕.นายชัยยุทธ เจียระนัยปรีดา เปิดกิจการร้านซักอบรีด ชื่อ จารนัย ใกล้ร้านปรีดาพานิช
๖.นางสุวรรณี ภัควิภาส ดูแลกิจการร้านปรีดาพานิชเดิม
ถนนสิทธิวงศ์ที่มาจรดถนนช้างม่อย ชื่อ “สิทธิวงศ์” คาดว่ามาจากนามสกุลของพ่อเขียว สิทธิวงศ์ บ้านอยู่ต้นถนนสิทธิวงศ์ติดถนนช้างม่อย อาจบริจารที่ดินส่วนหนึ่งเมื่อมีการขยายถนนทางราชการจึงใช้นามสกุลเป็นชื่อถนน
พ่อเขียว สิทธิวงศ์ สร้างตึกอยู่ชิดลำน้ำแม่ข่า เรียก “ตึกสิทธิวงศ์”
ตึกนี้อายุ ๗๖ ปี ยอมรับกันว่าเป็นตึกเก่าที่สุดในย่านนี้ สร้างสมัยที่แม่จินดา เจ้าของบ้านอายุ ๑๐ ขวบ(เกิดปี พ.ศ.๒๔๖๘) ปัจจุบันอายุ ๘๖ ปี แล้วคำนวณตึกน่าจะสร้างปี พ.ศ.๒๔๗๘
ก่อนที่พ่อเขียว สิทธิวงศ์จะมาครอบครอง บริเวณนี้เดิมเป็นพื้นที่ข้างลำน้ำแม่ข่า เจ้าของเดิมปลูกกระท่อมอยู่อาศัยและทำนาริมน้ำแม่ข่า ต่อมากรรมสิทธิ์เป็นของนายเขียว สิทธิวงศ์ ซึ่งแต่งงานกับนางจันทร์เป็ง มูลฤทธิ์ เดิมเป็นชาวบ้านฮ่อม ริมถนนท่าแพซึ่งตามประวัติคนบ้านฮ่อมอพยพมาจากเมืองเชียงแสนในอดีต
นายเขียว สิทธิวงศ์และนางจันทร์เป็ง มูลฤทธิ์ มีบุตรชาย ๑ คน เสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ต่อมามีบุตรหญิง ๑ คน ชื่อ จินดา สิทธิวงศ์ แต่งงานกับนายแพทย์วิมล โนตานนท์ บุตรธิดา ๔ คน คือ
๑.น.ส.นีรมล โนตานนท์ อาจารย์สอนวิทยาลัยเขตภาคพายัพ
๒.นายทรงพล โนตานนท์
๓.นายโสมนัส โนตานนท์
๔.นายอรรถกิจ โนตานนท์
น.ส.นีรมล โนตานนท์ ปัจจุบัน อายุ ๖๔ ปีให้ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวและประวัติตึกเก่าหลังนี้ว่า
“แม่(แม่จินดา)เล่าว่าตอนสร้างตึกนี้ แม่ขณะนั้นอายุเพียง ๑๐ ขวบ ตอนนี้อายุ ๗๖ ปี
“บ้านหลังนี้เริ่มมาจากตา ยาย คือ นายเขียวและนางจันทร์เป็ง สิทธิวงศ์ คนบ้านฮ่อม หลังจากแต่งงานแล้วแยกจากครอบครัวมาเช่าบ้านอยู่ที่ตรอกข่วงเมรุใกล้ตลาดวโรรส บริเวณดังกล่าวต่อมาเมื่อตายายย้ายมาแล้วเป็นบริเวณร้านเลียงฮง ติดร้านโค้วจินหมง ปัจจุบันคงเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้เก่า ครอบครัวตายายพักอาศัยอยู่ที่นั่น ประกอบอาชีพค้าขาย คือนำสินค้าจากกรุงเทพฯมาขายเชียงใหม่ และสินค้าจากเชียงใหม่ไปขายทางลำพูน ลำปาง กรุงเทพฯ เรื่อยไป ไม่ได้เปิดร้านที่บ้าน ต่อมาย้ายมาซื้อที่อยู่ตรงนี้ เดิมเป็นนาข้าว เจ้าของปลูกข้าวอยู่ริมน้ำแม่ข่า ตายายเล่าว่าเจ้าของเป็นผู้ชายสูงอายุแล้ว มีกระต๊อบเล็กอยู่ ต่อมาขายให้ตายาย หลังจากซื้อก็ปลูกตึกสองชั้นอยู่อาศัย
“ตายายเล่าว่าได้ลูกชายคนแรกแต่เสียชีวิตก็อยากได้ลูกคนที่สอง สมัยนั้นมองจากบ้านก็เห็นพระธาตุดอยสุเทพ ไม่มีตึกบังเหมือนเดี๋ยวนี้ ตายายก็ยกมือไหว้อธิษฐานขอลูก แล้วก็ได้ลูกสาว ตายายทำงานไม่ค่อยว่างมักต้องเดินทางไปค้าขายต่างจังหวัดซึ่งใช้การล่องเรือบ้าง ขึ้นช้างบ้าง การเลี้ยงลูกสาวส่วนใหญ่จึงมอบให้น้องของยายเลี้ยงที่บ้านฮ่อมเลี้ยง
“วัยเด็ก แม่ของพี่(แม่จินดา) เข้าเรียน โรงเรียนเรยีนาเชลี ถือเป็นรุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๗๕ รุ่นเดียวกับคุณอุณณ์ ชุติมา จบมัธยม ๖ แล้วมาช่วยแม่ค้าขายอยู่ที่บ้าน เมื่ออายุ ๒๑ ปีพ่อแม่ได้จัดให้แต่งงานกับพ่อ คือ นายแพทย์วิมล โนตานนท์ ครอบครัวอยู่เมืองลำพูน รับราชการอยู่ศูนย์มาลาเรีย กระทรวงสาธารณสุข เกษียณราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการมาลาเรีย ที่กรุงเทพฯ รุ่นลูกมี ๔ คน พี่เป็นคนโต เกิด พ.ศ.๒๔๙๑ สมัยก่อนละแวกนี้เป็นบ้านไม้ทั้งนั้น ที่บ้านขายเครื่องเงิน เครื่องไม้แกะสลัก ผ้าทอ ผ้ายก ผ้าไหม ผ้าฝ้าย จะมีคนนำมาส่งจากถนนวัวลาย เมื่อก่อนถนนวัวลายไม่มีร้านค้า เป็นบ้านชาวบ้านมีอาชีพตีเงินแล้วนำมาส่งตามร้านต่างๆ”.
พ.ต.อ.อนุ เนินหาด
ผกก.สภ.แม่แจ่ม